Home Languages TH จุฬาฯ นำเสนอนวัตกรรมสุดล้ำ “Deep GI phase 2” AI ตรวจมะเร็งกระเพาะ ตับ ท่อน้ำดี ถ่ายทอดสดสู่เวทีโลกในงาน IDEN 2025 ที่เกาหลีใต้

จุฬาฯ นำเสนอนวัตกรรมสุดล้ำ “Deep GI phase 2” AI ตรวจมะเร็งกระเพาะ ตับ ท่อน้ำดี ถ่ายทอดสดสู่เวทีโลกในงาน IDEN 2025 ที่เกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2568 ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร พร้อมด้วยคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนาโครงการ Deep GI phase 2 นวัตกรรมการใช้ AI ในการตรวจมะเร็งกระเพาะ มะเร็งตับ และ มะเร็งท่อน้ำดีในผู้ป่วยจริงสองรายเป็นครั้งแรกของโลก ได้ร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมนี้ผ่านการถ่ายทอดสดจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชั้น 10 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปยังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในงาน International digestive endoscopy network 2025 (IDEN) ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน

โครงการ Deep GI phase 2 เป็นผลงานความร่วมมือระหว่างคณาจารย์นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในการส่องกล้องตรวจหาความผิดปกติของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหารที่จะพัฒนาลุกลามเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหารและท่อน้ำดี (gastric and biliary tract malignancies) เป็นการพัฒนาต่อยอดจากนวัตกรรม Deep GI รุ่นแรกซึ่งเน้นการตรวจติ่งเนื้อผิดปกติที่จะพัฒนาเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ (colonic adenoma)

คณาจารย์จุฬาฯ ผู้พัฒนา Deep GI phase 2 ซึ่งนำเสนอผลงานและร่วมบรรยายผ่านการถ่ายทอดสดในงาน International digestive endoscopy network 2025 (IDEN) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2568 ประกอบด้วย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

– ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร

– รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ

– รศ.นพ.พรเทพ อังสุวัชรากร

– รศ.พญ.รภัส พิทยานนท์

– รศ.(พิเศษ) นพ.ภาฤทธิ์ เมฆอรุณกมล

– รศ.พญ.วิริยาพร ฤทธิทิศ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

– ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์

– รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรม Deep GI ในงาน Unicorn Day 2025 ที่ Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) และได้รับเกียรติให้เป็นผลงานดาวรุ่งระดับนานาชาติ รวมทั้งได้รับความสนใจที่จะร่วมมือต่อยอดนวัตกรรมนี้ในอนาคต

ที่มา/ภาพ : ข่าวสารจุฬาฯ